วันพฤหัสบดีที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

บทวิเคราะห์แนวโน้มราคาทองคำและโลหะมีค่า วันที่ 23 พฤษภาคม 2556 โดยบริษัท คลาสสิก โกลด์ ฟิวเจอร์ส จำกัด (ช่วงเย็น)


ราคาทองคำเปิดตลาดเอเชียที่ 1,363 USDต่อออนซ์  ระหว่างวันมีการแกว่งตัวขึ้น 1,357–1,392 USDต่อออนซ์  หลังจากที่เมื่อคืนนี้ ประธาน Fed แถลงยืนยันยังคงมาตรการ QE ต่อไปเช่นเดิม โดยเห็นว่าการยุติมาตรการเร็วเกินไปจะส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจ แต่ก็พร้อมจะปรับลดขนาดวงเงินทันทีที่เศรษฐกิจสหรัฐและตลาดแรงงานในประเทศแสดงการฟื้นตัวที่แข็งแกร่ง เนื่องจากกรรมการบางท่านยืนยันว่าควรปรับลดโครงการในการประชุม FOMC วันที่ 18-19 มิ.ย. ส่งผลให้ตลาดค่อนข้างสับสนว่ามาตรการดังกล่าวจะสิ้นสุดลงเมื่อใดกันแน่ ราคาทองคำจึงสวิงในลักษณะที่ผันผวนแรงอย่างไร้ทิศทาง  อย่างไรก็ตาม การดิ่งลงของตลาดหุ้นเอเชียในวันนี้ อาจเป็นจุดเริ่มต้นของการพักฐาน และทำให้มีแรงซื้อระยะสั้นเข้าสู่ตลาดโลหะมีค่า พยุงให้ราคาทรงตัวได้

ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ(PMI) รวมภาคบริการและการผลิตของยูโรโซนในเดือน พ.ค.ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 47.7 จาก 46.9 ในเดือน เม.ย. ซึ่งสูงกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ไว้ที่ 47.2 แต่ยังต่ำกว่าระดับ 50 ซึ่งหมายความว่ากิจกรรมในภาคการผลิตและบริการของยูโรโซนยังคงอยู่ในภาวะหดตัว

ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ(PMI)เบื้องต้นของเยอรมนีในเดือนพ.ค.ปรับตัวขึ้นแตะ 49.9 จากระดับ 49.2 ในเดือน เม.ย. แต่ยังอยู่ต่ำกว่าระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ว่ากิจกรรมทางธุรกิจของเยอรมนียังอยู่ในภาวะหดตัว โดยดัชนี PMI ภาคบริการปรับตัวขึ้นแตะ 49.8 จากระดับ 49.6 ส่วนดัชนี PMI ภาคการผลิต เพิ่มขึ้นแตะ 49.0 จากระดับ 48.1

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นอายุ 10 ปี พุ่งแรงแตะ 1% เป็นครั้งแรกในรอบปี จากกระแสคาดการณ์ที่ว่าธนาคารกลางสหรัฐ(Fed)จะควบคุมการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่งผลให้ธนาคารกลางญี่ปุ่น(BOJ)ต้องอัดฉีดเงิน 2 ล้านล้านเยน หรือ 1.94 หมื่นล้านดอลลาร์ เข้าสู่ระบบการเงินเพื่อสกัดการผันผวนในตลาด

ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ(PMI)เบื้องต้นในภาคการผลิตของจีนเดือน พ.ค.ร่วงลงแตะระดับ 49.6 เป็นครั้งแรกในรอบ 7 เดือน ที่ดัชนีร่วงลงต่ำกว่าระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ว่าภาคการผลิตหดตัวลง ส่วนยอดสั่งซื้อใหม่ในภาคการผลิต ดัชนีการส่งออกในภาคการผลิต และดัชนีการจ้างงานในภาคการผลิต ต่างหดตัวลง เนื่องจากการชะลอตัวลงของอุปสงค์ทั้งภายในและต่างประเทศเป็นสาเหตุหลักที่ฉุดดัชนี PMI หดตัวลง และหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ HSBC ระบุว่า เศรษฐกิจจีนกำลังเผชิญกับความเสี่ยงที่จะอยู่ในภาวะขาลงในไตรมาส 2 ปีนี้ ซึ่งจีนจำเป็นต้องให้ความสนใจกับดัชนีการจ้างงานที่ยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง และรัฐบาลยังคงเผชิญกับทางเลือกไม่มากนักในการใช้นโยบายการคลังเพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจจะเติบโตอย่างมีเสถียรภาพ

คณะกรรมการเพื่อการปฏิรูปแห่งชาติของจีน(NDRC) ประกาศปรับลดราคาค่าไฟสำหรับธุรกิจทุกประเภทในการผลิตภาคเกษตรกรรมและโลจิสติกส์ ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. ทำให้ผู้ผลิตเนื้อหมูและผักผลไม้จะจ่ายค่าไฟราคาเดียวกับธุรกิจการผลิตด้านเกษตรกรรมอื่น ๆ ที่ได้ประโยชน์นี้ แต่ธุรกิจขายส่งสินค้าทางการเกษตรและผลิตภัณฑ์จากฟาร์ม รวมถึงธุรกิจคลังสินค้าแช่แข็ง จะต้องเสียค่าไฟฟ้าในอัตราเดียวกับผู้ประกอบการด้านอุตสาหกรรม ทั้งนี้ คาดว่าการปรับลดค่าไฟจะช่วยประหยัดเงินถึง 500 ล้านหยวน (80.78 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)

บล.UBS (ประเทศจีน) ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจจีนในปี 2556 ลงเหลือขยายตัว 7.7% จากเดิมประเมินไว้ที่ 8% และปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจปี 2557 เหลือขยายตัว 7.8% เนื่องจากค่าแรงมีอัตราขยายตัวลดลงในช่วง 2-3 ไตรมาสที่ผ่านมา ขณะที่การบริโภคยังคงอ่อนแอจากนโยบายรัดเข็มขัดของรัฐบาล และการปล่อยสินเชื่อเครดิตที่คึกคักกลับไม่สามารถหนุนกิจกรรมการลงทุนได้อย่างที่คาดไว้ ซึ่งสะท้อนถึงความไม่แน่นอนของแนวโน้มเศรษฐกิจจีน แรงกดดันทางการเงินของรัฐบาลท้องถิ่น และปัญหากำลังผลิตส่วนเกิน ทั้งนี้ คาดว่ารัฐบาลจีนจะรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจและตลาดอสังหาริมทรัพย์ต่อไป และคาดว่าจีนจะไม่ผ่อนคลายนโยบายเพิ่มเติม อาทิ การปรับลดดอกเบี้ยหรือสัดส่วนการกันสำรองของธนาคารพาณิชย์(RRR) และคาดว่าจะยังไม่เพิ่มความเข้มงวดในตลาดอสังหาริมทรัพย์หรือนโยบายสินเชื่อเครดิต

ยอดการลงทุนโดยตรงในต่างประเทศของเกาหลีใต้ร่วงลง 38.3% ในไตรมาสแรกของปีนี้ แตะ 7.03 พันล้านดอลลาร์ เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศพัฒนาแล้วได้เพิ่มการลงทุนในโครงการต่างประเทศด้วยต้นทุนในการระดมทุนที่ต่ำลงจากนโยบายการผ่อนคลายเชิงปริมาณ(QE) โดยเมื่อเทียบเป็นรายภูมิภาคแล้ว การลงทุนโดยตรงในอเมริกาเหนือลดลง 44.2% เนื่องจากยอดการลงทุนในโครงการพัฒนาน้ำมันและแก็สในภูมิภาคลดลง ส่วนการลงทุนในเขตโอเชียเนียและเอเชียร่วงลง 40% และ 90.1% ตามลำดับ ขณะที่การลงทุนในยุโรปเพิ่มขึ้น 47.4%

ตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญที่ต้องติดตาม  ได้แก่
- 19:30 จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน รายสัปดาห์  –  ตัวเลขในระดับต่ำกว่า 4 แสนราย แสดงถึงภาวะที่ดีขึ้นของการจ้างงานในสหรัฐ สอดคล้องกับอัตราการว่างงานที่ล่าสุดลดลงมาอยู่ที่ 7.5% อย่างเหนือความคาดหมาย ซึ่งชี้ว่าตลาดแรงงานของสหรัฐดีขึ้นมาก แต่เป้าหมาย 6.5% ที่ Fed คาดหวังไว้ ยังคงต้องให้ตัวเลขรายสัปดาห์ทรงตัวต่ำกว่าระดับ 3 แสนราย เสียก่อน  หากในคืนนี้ประกาศตัวเลขออกมาระหว่าง 3.0-3.5 แสนราย ซึ่งต่ำกว่าสัปดาห์ก่อน จะสร้างแรงกดดันต่อราคาทองคำทันที แต่หากประกาศยอดในช่วง 3.5-4.0 แสนราย จะส่งผลบวกสั้น ๆ

- 20:00 ดัชนี PMI ภาคการผลิต (เบื้องต้น) เดือน พ.ค. โดย Markit  –  ผลสำรวจความคิดเห็นของผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อในกลุ่มธุรกิจต่าง ๆ ที่บริษัทบริการข้อมูลทางธุรกิจ Markit รวบรวมมา โดยเป็นการสอบถามมุมมองโดยรอบต่อการประกอบการ ทั้งภาวะการจ้างงาน, การใช้กำลังการผลิต, สต๊อคสินค้า, ยอดคำสั่งซื้อ, การตั้งราคาขาย ฯลฯ ซึ่งผลสรุปดังกล่าวจะชี้ให้เห็นถึงภาวะเศรษฐกิจคร่าว ๆ จากผู้ประกอบการทั่วประเทศ แต่เนื่องจากเป็นชุดข้อมูลที่เพิ่งได้รับการเผยแพร่ จึงทำให้ยังไม่มีผลกระทบต่อราคาทองคำมากนัก และตัวเลขที่ลดลง แม้จะอยู่เหนือระดับ 50 จะส่งผลบวกเล็กน้อย

- 21:00 ดัชนีราคาที่อยู่อาศัย เดือน มี.ค.  –  ระดับราคาซื้อขายโดยเฉลี่ยทั่วประเทศของบ้านที่ค้ำประกันด้วยสินเชื่อจำนอง ซึ่งเป็นดัชนีที่ใช้พิจารณาประกอบกับดัชนีราคาที่อยู่อาศัยในเขต 20 เมืองใหญ่ ของ S&P/CS ได้ แต่เมื่อเทียบกับราคาทองคำแล้ว การประกาศในระดับบวกหรือลบไม่เกิน 1.5% มักไม่มีผลกระทบ

- 21:00 ยอดขายบ้านใหม่ เดือน เม.ย.  –  ยอดขายสามารถทรงตัวเหนือระดับ 4 แสนหลัง/เดือน ได้ 3 เดือนติดต่อกัน และการคาดการณ์ในคืนนี้ยังคงอยู่เกินระดับดังกล่าว แสดงให้เห็นถึงระดับความเชื่อมั่นที่ดีต่อตลาดอสังหาริมทรัพย์ และการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐ  ทั้งนี้ การประกาศตัวเลขในระดับ 4.0-4.5 แสน จะส่งผลลบต่อราคาทองคำ และหากเกิน 4.5 แสน จะทำให้ราคาทองคำร่วงแรงทันที  ในทางตรงกันข้าม หากประกาศในระดับ 3.5-4.0 แสน จะส่งผลบวก

Technical Analysis:
ทองคำ   ราคาปรับตัวขึ้นได้แรงในช่วงกลางวัน ทำให้ macd และ rsi ในกราฟราย 1 ชม. พลิกกลับเป็นแนวโน้มทางบวก แต่การเข้าใกล้เขต overbought อาจทำให้ราคาอ่อนตัวได้ และการหมดปัจจัยชี้นำหลังทราบผลการแถลงของ Fed เมื่อคืนนี้แล้ว จึงคาดว่าราคาจะแกว่งตัวระหว่าง 1,350–1,400 รอข่าวใหม่ในสัปดาห์หน้า  ให้แนวต้านบริเวณ 1,398/1,411  ให้แนวรับบริเวณ 1,371/1,358  แนะนำให้ trading ในกรอบแนวรับแนวต้าน

โลหะเงิน   ราคาอ่อนแรงลง แต่ยังไม่หลุดบริเวณ 22  ขณะที่ rsi ยังไม่มีทิศทางที่ชัดเจน  จึงคาดว่าราคาจะสวิงผันผวนในกรอบ 21–23  ให้แนวต้านบริเวณ  23.1/23.5  ให้แนวรับบริเวณ  20.9/19.8  แนะนำให้ trading ในกรอบแนวรับแนวต้าน

อบรมทุกวันอังคารและพฤหัสบดี ที่อาคารจัตุรัสจามจุรี ชั้นที่ 12 
สนใจติดต่อสอบถามได้ที่ บริษัท คลาสสิก โกลด์ ฟิวเจอร์ส จำกัด เบอร์โทร 02 618 0808,
http://www.classicgoldfutures.co.th
http://www.facebook.com/ClassicGoldGroup
http://www.youtube.com/ilovecgf
http://www.twitter.com/ilovecgf
https://plus.google.com/114919553661509313835/posts
http://web.stagram.com/n/classicgoldgroup/
http://classicgoldfutures.blogspot.com
Application search CLASSIC GOLD ทั้ง iPhone และ Android 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น