วันอังคารที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

บทวิเคราะห์แนวโน้มราคาทองคำและโลหะมีค่า วันที่ 14 พฤษภาคม 2556 โดยบริษัท คลาสสิกโกลด์ฟิวเจอร์ส จำกัด (ช่วงเย็น)


บทวิเคราะห์แนวโน้มราคาทองคำและโลหะมีค่า วันที่ 14 พฤษภาคม 2556 โดยบริษัท คลาสสิกโกลด์ฟิวเจอร์ส จำกัด (ช่วงเย็น)

ราคาทองคำเปิดตลาดเอเชียที่ 1,440 USDต่อออนซ์  ปรับตัวขึ้นทดสอบ 1,445 ในช่วงสั้น ๆ แต่ไม่ผ่าน  ทำให้จากนั้นราคาเคลื่อนไหว sideway down ระหว่าง 1,435–1,445 USDต่อออนซ์  โดยราคาทองคำถูกกดดันจากข่าวว่าคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน(FOMC)กำลังร่างแผนยุติมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณเดือนละ 8.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หมายความว่า Fed ส่งสัญญาณกลาย ๆ ว่าเศรษฐกิจสหรัฐพร้อมจะกลับมาเติบโตได้อย่างเป็นปกติแล้ว และพร้อมจะยกเลิกวงเงินของ QE3-4 ทันทีที่อัตราการว่างงานลดลงแตะ 6.5% ซึ่งปัจจุบันอัตราการว่างงานอยู่ที่ 7.5%  นอกจากนี้ แม้ว่าไซปรัสเพิ่งได้รับการอนุมัติวงเงินช่วยเหลืองวดแรกไปเมื่อวานนี้ 2 พันล้านยูโร แต่ปัญหาที่แท้จริงของเศรษฐกิจยูโรโซนยังไม่ได้รับการเยียวยา โดยหลายประเทศเรียกร้องให้ EU เร่งดำเนินการแผนจัดตั้งสหภาพธนาคารในภูมิภาคขั้นถัดไปโดยเร็ว นอกเหนือไปจากการบังคับใช้เกณฑ์ Basel III ก่อนสหรัฐ ที่เร่งให้ธนาคารพาณิชย์ในยุโรปต่างพากันเพิ่มทุนเพื่อให้สัดส่วนสภาพคล่องพ้นระดับที่กำหนดตามมาตรฐานใหม่

สมาชิกคณะกรรมาธิการฝ่ายกิจการเศรษฐกิจและการเงินของสหภาพยุโรป(EU) ออลลี เรห์น เรียกร้องให้กลุ่มประเทศยูโรโซนดำเนินขั้นตอนต่อไปเกี่ยวกับการจัดตั้งสหภาพการธนาคาร โดยกล่าวว่า “ผมเชื่อว่างานของเราในการจัดตั้งสหภาพการธนาคารจะเป็นหนึ่งในภารกิจที่สำคัญที่สุดในระดับยุโรปในช่วงหลายเดือนและหลายปีข้างหน้า สำหรับการสร้างพื้นฐานด้านการขยายตัวและการจ้างงาน การฟื้นฟูภาคการเงินไม่ใช่เพียงแค่การให้เงินช่วยเหลือธนาคารต่าง ๆ แต่เกี่ยวข้องกับการปล่อยสินเชื่อเพื่อหนุนการลงทุน ที่มีความจำเป็นสำหรับการสร้างงานและการฟื้นตัวอย่างยั่งยืน" อย่างไรก็ตาม รมว.คลังเยอรมนี วูล์ฟกัง ชอยเบิล ระบุในหนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียลไทม์สว่า การจัดตั้งหน่วยงานช่วยเหลือภาคการธนาคารร่วมกันจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงสนธิสัญญาของสหภาพยุโรป และแย้งว่ากองทุนและกลไกในการแก้ปัญหาภาคธนาคารร่วมกันจะสามารถดำเนินการได้ภายในกรอบการทำงานตามกฎหมายในปัจจุบัน และคณะผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายต่างก็กำลังหาคำตอบที่ชัดเจนสำหรับประเด็นดังกล่าว

ความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของเยอรมนีในเดือน พ.ค.ขยับขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ 36.4 จาก 36.3 ในเดือน เม.ย. สำหรับดัชนีภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันในเดือน พ.ค.ลดลงแตะ 8.9 จาก 9.2 ในเดือน เม.ย.

ดัชนีราคาผู้บริโภค(CPI)ของเยอรมนีในเดือน เม.ย.ลดลงแตะ 1.2% เมื่อเทียบรายปี จาก 1.4% ในเดือน มี.ค. โดยปรับตัวลงเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน เป็นผลมาจากราคาเชื้อเพลิงที่ปรับต้วลง แต่หากไม่รวมราคาเชื้อเพลิง ดัชนี CPI ปรับตัวขึ้น 1.7% เมื่อเทียบรายปี

ดัชนีราคาผู้บริโภค(CPI)ของอิตาลีในเดือน เม.ย.ไม่เปลี่ยนแปลงจากเดือน มี.ค. และเพิ่มขึ้น 1.1% จากเดือน เม.ย.ปีที่แล้ว ส่วนข้อมูลเงินเฟ้อขั้นสุดท้ายมีการปรับลดลงจากเดิมที่รายงานว่าเพิ่มขึ้น 0.1% จากเดือน มี.ค. และปรับตัวขึ้น 1.2% เมื่อเทียบรายปี เป็นผลมาจากราคาพลังงานที่ลดลง ส่วนดัชนี CPI พื้นฐาน ที่ไม่รวมราคาพลังงานและอาหารสดนั้น ปรับขึ้นที่ 1.2% เมื่อเทียบรายปี ในเดือน เม.ย. ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลเบื้องต้น

รัฐมนตรีนโยบายเศรษฐกิจและการคลังของญี่ปุ่นได้แสดงความวิตกกังวลเกี่ยวกับการพุ่งขึ้นในช่วงที่ผ่านมาของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาว โดยระบุว่าหากผลตอบแทนพุ่งขึ้น จะทำให้การจ่ายผลตอบแทนเพิ่มสูงขึ้นและจะส่งผลกระทบเชิงลบต่อการเสริมความแข็งแกร่งทางการคลังของญี่ปุ่น อย่างไรก็ตาม ทาโร อาโสะ รัฐมนตรีคลังของญี่ปุ่นไม่เห็นด้วยกับมุมมองที่ว่าผลตอบแทนพันธบัตรอาจจะปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับความแข็งแกร่งทางการคลังของญี่ปุ่น ซึ่งย่ำแย่ที่สุดในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว โดยระบุว่าการปรับตัวขึ้นในปัจจุบันของอัตราผลตอบแทนระยะยาวของประเทศได้รับแรงกระตุ้นจากการปรับตัวขึ้นของราคาหุ้น

นักวิเคราะห์จากเว็บไซต์ lgmi.com ซึ่งให้ข้อมูลเกี่ยวกับเหล็กและเหล็กกล้า คาดว่า ตลาดแร่เหล็กยังคงอ่อนแรงในช่วงนี้และมีแนวโน้มว่าราคาจะผันผวนในกรอบแคบ ๆ ในบางภูมิภาค ทั้งนี้ ข้อมูลระบุว่า การซื้อขายแร่เหล็กในจีนเป็นไปอย่างซบเซาในช่วงวันที่ 6 ถึง 10 พ.ค. ขณะที่ในเขตเหอเป่ยและเขตตะวันออกเฉียงเหนือของจีน มีรายงานว่าราคาปรับตัวลงเล็กน้อย และแม้ว่าราคาแร่เหล็กจะอยู่ในระดับต่ำ แต่ทั้งโรงงานผลิตเหล็กกล้าและผู้ค้าเหล็กยังไม่ซื้อแร่เหล็กปริมาณมากในช่วงเวลานี้ เนื่องจากเศรษฐกิจภายในประเทศอ่อนตัวและอุปสงค์เหล็กซบเซา

ตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญที่ต้องติดตาม  ได้แก่
- 19:30 ดัชนีราคาสินค้านำเข้า เดือน เม.ย.  –  ตัวเลขเบื้องต้นที่บ่งชี้ถึงความเสี่ยงต่อภาวะเงินเฟ้อในระบบเศรษฐกิจ แต่เนื่องจากเป็นดัชนีที่มีความผันผวนไปตามฤดูกาล ทำให้ข้อมูลที่ประกาศเป็นข้อมูลในระยะสั้น ซึ่งไม่มีผลกระทบต่อราคาทองคำมากนัก  ทั้งนี้ อาจมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญของตัวเลขในช่วง 1-3 เดือนนี้ เนื่องจากเงินเยนญี่ปุ่นอ่อนค่าลงอย่างมากเมื่อเทียบกับสกุลดอลลาร์สหรัฐ
 
ทองคำ   ราคาแกว่งตัวในกรอบ sideway  โดย rsi อ่อนแรง และ macd ยังไม่ยืนเหนือระดับ 0 อย่างชัดเจน ทำให้มีแนวโน้มอาจแกว่งตัวแคบ ๆ ต่อไป หรือ อ่อนตัวหลุดกรอบล่างการแกว่งตัวได้  ซึ่งควรระวังการปรับตัวลงอย่างต่อเนื่อง  โดยให้แนวต้านบริเวณ 1,445/1,450 และให้แนวรับบริเวณ 1,428/1,420  แนะนำให้ trading ในกรอบแนวรับแนวต้าน
 
โลหะเงิน   ราคาแกว่งตัวแคบลง  แต่ rsi ที่แกว่งออกข้างมีลักษณะพร้อมเลือกทิศทาง  จึงควรระวัง หากราคา break out จากกรอบการเคลื่อนไหว จะทำให้แกว่งตัวแรงได้  ให้แนวต้านบริเวณ  24/24.5  ให้แนวรับบริเวณ  23.15/23  แนะนำให้ trading ในกรอบแนวรับแนวต้าน

อบรมทุกวันอังคารและพฤหัสบดี ที่อาคารจัตุรัสจามจุรี ชั้นที่ 12
สนใจติดต่อสอบถามได้ที่ บริษัท คลาสสิก โกลด์ ฟิวเจอร์ส จำกัด เบอร์โทร 02 618 0808,
http://www.classicgoldfutures.co.th
http://www.facebook.com/ClassicGoldGroup
http://www.youtube.com/ilovecgf
http://www.twitter.com/ilovecgf
https://plus.google.com/114919553661509313835/posts
http://web.stagram.com/n/classicgoldgroup/
http://classicgoldfutures.blogspot.com
Application search CLASSIC GOLD ทั้ง iPhone และ Android

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น