บทวิเคราะห์แนวโน้มราคา ทองคำ และ ซิลเวอร์ วันที่ 26 ตุลาคม 2555 โดยบริษัท คลาสสิกโกลด์ฟิวเจอร์ส จำกัด (ช่วงเย็น)
คืนนี้ 1,700 ต้อง "เอาอยู่"
ราคาทองคำเปิดตลาดเอเชียที่ 1,714 USDต่อออนซ์ จากนั้นก็อ่อนตัวลงมาเรื่อย ๆ ตามทิศทางตลาดหุ้นทั่วโลกที่อยู่ในแดนลบ ดัชนีค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่พลิกกลับที่ยืนเหนือระดับ 80 และค่าเงินยูโรที่ร่วงหลุดระดับ 1.30 ยูโรต่อดอลลาร์ ทำให้ราคาทองคำเคลื่อนไหวอ่อนตัวระหว่าง 1,700-1,714 USDต่อออนซ์ แม้เมื่อคืนนี้ เฟดได้ออกมาการันตีว่าจะดำเนินนโยบายกดดอกเบี้ยให้ต่ำสุดต่อไปพร้อมกับใช้มาตรการ QE3 อย่างต่อเนื่องจนกว่าภาวะการจ้างงานสหรัฐจะดีขึ้นก็ตาม ทั้งนี้ ราคาทองคำกำลังทดสอบระดับแนวรับทางจิตวิทยาที่ 1,700 USDต่อออนซ์ ซึ่งมีผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนว่าจะยังคงแนวโน้มในทิศทางขาขึ้นในระยะกลางถึงยาวได้ต่อไปหรือไม่? โดยมีโอกาสที่ราคาจะหลุดระดับดังกล่าวลงไป แต่หากมีการดีดกลับขึ้นมาได้อย่างรวดเร็วแล้ว ก็จะทำให้ภาพรวมของขาขึ้นยังคงไม่เสียหาย และจะเป็นเพียงการปรับฐานในกรอบ 1,700-1,800 USDต่อออนซ์ ไปอีกระยะหนึ่งเท่านั้น แต่ถ้าหากราคาร่วงถึงระดับ 1,680 USDต่อออนซ์ ก็จะเสี่ยงต่อการปรับฐานที่ยาวนานมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ราคาทองคำในระดับปัจจุบันถือได้ว่าน่าซื้อสะสม ทั้งการเก็งกำไรระยะสั้นและการลงทุนระยะยาว เนื่องจากหากพิจารณาจากประเด็นความอ่อนแอทางเศรษฐกิจของหลายภูมิภาคทั่วโลกและการอัดฉีดเม็ดเงินสกุลหลักจากหลายประเทศ ก็ทำให้มีแนวโน้มที่นักลงทุนจะแสวงหาสินทรัพย์ที่สามารถรักษามูลค่าเอาไว้ได้ในระยะยาว ซึ่งโลหะมีค่าทั้งทองคำและเงินต่างก็เป็นตัวเลือกที่สำคัญ ทั้งนี้ จากการประเมินภาพรวม ในคืนนี้จำเป็นที่ราคาทองคำจะต้องยืนอยู่เหนือระดับ 1,700 USDต่อออนซ์ เพื่อให้ภาพเชิงบวกต่อทิศทางในสัปดาห์หน้า
ธนาคารกลางสหรัฐ(FED)ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยไว้ในกรอบ 0-0.25% ด้วยมติ 11 ต่อ 1 เสียง ซึ่งเป็นระดับที่ได้กำหนดไว้ในการประชุมเดือน ธ.ค.2551 โดยย้ำว่าเฟดจะยังคงรักษาอัตราดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับต่ำเป็นพิเศษต่อไปอย่างน้อยจนถึงกลางปี 2558 และจะดำเนินมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณรอบ 3 ต่อไป ด้วยการเข้าซื้อหลักทรัพย์ที่ได้รับการค้ำประกันจากสัญญาจำนอง(MBS) ในวงเงิน 4 หมื่นล้านดอลลาร์ทุกเดือน จนกว่าแนวโน้มในตลาดแรงงานจะปรับตัวดีขึ้นอย่างมาก นอกจากนี้ จะยังคงมาตรการ Operation Twist ไปจนถึงสิ้นปีนี้ตามที่ได้มีการประกาศไว้ก่อนหน้า
ผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(IMF)เตือนว่า การปฏิรูปภาคการเงินที่ยังไม่แล้วเสร็จกำลังถ่วงการฟื้นตัวของภาคส่วนที่สำคัญในเศรษฐกิจโลก พร้อมทั้งเรียกร้องให้ผู้นำทำทุกอย่างที่ทำได้ เพื่อฟื้นฟูระบบการเงินของโลก ซึ่งฟื้นตัวขึ้นจากวิกฤติซับไพรม์ แต่กลับอ่อนแอลงอีกจากวิกฤติหนี้ยูโรโซน โดยมีกลุ่มผลประโยชน์หลายกลุ่มที่กำลังขัดขวางการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบใหม่ว่าจะเป็นภาระมากเกินไป แต่กลับทุ่มเงินหลายร้อยล้านดอลลาร์ในการล็อบบี้เพื่อคัดค้านการออกกฎ
ธนาคารกลางยุโรป(ECB) เผยว่าเงินฝากเดือน ก.ย.ในธนาคารสเปนและกรีซเพิ่มขึ้น หลังจากที่มีการแห่ถอนเงินเนื่องจากความวิตกเกี่ยวกับฐานะการคลังของทั้งสองประเทศ โดยปริมาณเงินฝากของภาคเอกชนในธนาคารสเปน เพิ่มสู่ระดับ 1.505 ล้านล้านยูโร จาก 1.492 ล้านล้านยูโร ส่วนปริมาณเงินฝากของธนาคารกรีซ เพิ่มขึ้นสู่ระดับ 1.601 แสนล้านยูโร จาก1.587 แสนล้านยูโร แต่เงินฝากรวมยังคงลดลงราว 1 ใน 3 จากระดับสูงสุดในเดือน ธ.ค.2552 และในอิตาลีเพิ่มสู่ระดับ 1.467 ล้านล้านยูโรจาก 1.437 ล้านล้านยูโร นอกจากนี้ ปริมาณเงินฝากในไอร์แลนด์แทบไม่เปลี่ยนแปลง ส่วนในโปรตุเกสลดลงไม่ถึง 1%
อัตราว่างงานของสเปนปรับตัวสูงขึ้นแตะ 25% ณ สิ้นไตรมาส 3 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และสูงเป็นอันดับ 2 รองจากกรีซ ในบรรดาประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป(EU) ส่งผลให้จำนวนผู้ว่างงานเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 5.78 ล้านคน
ความเชื่อมั่นผู้บริโภคเยอรมนี เดือน พ.ย.ปรับตัวเพิ่มขึ้นแตะ 6.3 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 5 ปี ข้อมูลดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า แม้ชาวเยอรมนียังคงวิตกกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจ แต่ก็เต็มใจที่จะเพิ่มการจับจ่าย โดยดัชนีแนวโน้มการซื้อเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 33.9 จาก 33.1 ส่วนดัชนีคาดการณ์รายได้พุ่งขึ้นมาอยู่ที่ 29.9 จาก 23.9
ความเชื่อมั่นผู้บริโภคฝรั่งเศสเดือน ต.ค.ลดลงแตะ 84 จาก 85 ในเดือน ก.ย. เนื่องจากชาวฝรั่งเศสมีมุมมองเชิงลบมากขึ้นเกี่ยวกับฐานะการเงินในภาคครัวเรือนและคาดว่าอัตราว่างงานจะสูงขึ้น
ครม.ญี่ปุ่นอนุมัติมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 4.226 แสนล้านเยน (5.3 พันล้านดอลลาร์) ประกอบด้วยมาตรการให้เงินอุดหนุนและลดหย่อนภาษี ซึ่งจะเป็นการนำเงินในคลังสำรองมาใช้เพื่อหลีกเลี่ยงการขายพันธบัตรใหม่ แต่แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลมีงบประมาณจำกัดในการเพิ่มการใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
คาดฮ่องกงยังผูกติดค่าเงินกับดอลล์สหรัฐต่อไป แม้ปัจจัยทางการเมืองและเศรษฐกิจกำลังสร้างความยากลำบากให้แก่ฮ่องกงในการรักษาระบบผูกค่าเงินดอลลาร์ฮ่องกงไว้กับดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งความพยายามดังกล่าวอาจส่งผลให้ราคาอสังหาริมทรัพย์พุ่งสูงขึ้นไปอีก ทั้งนี้ มีการเข้าแทรกแซงตลาดปริวรรตเงินตราไปแล้ว 4 ครั้ง ในเวลาเพียงสัปดาห์เดียว โดยมีการขายดอลลาร์ฮ่องกงออกมา 1.44 หมื่นล้าน (1.85 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) และนักวิเคราะห์คาดว่าอาจมีการแทรกแซงต่อไปให้เป็นไปตามกรอบเป้าหมายที่ระดับ 7.75-7.85 ดอลลาร์ฮ่องกงต่อดอลลาร์สหรัฐ
ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่
19:30น. GDP ไตรมาส 3/2012 (ตัวเลขประมาณการณ์ครั้งแรก) – เป็นตัวเลขที่คาดการณ์ล่วงหน้าก่อนการรวบรวมข้อมูลจริงจะเสร็จสิ้น จึงถือเป็นการประเมินจากข้อมูลดิบ ซึ่งจะให้ผลเพียงการประมาณเท่านั้น แต่มักส่งผลต่อความเชื่อมั่นและทิศทางต่อเศรษฐกิจโดยรวม เนื่องจากเป็นตัวเลขชุดแรกที่ออกประกาศ ซึ่งจากยอดคำสั่งซื้อสินค้าคงทนล่าสุดที่ประกาศออกมาเมื่อคืนนี้ พุ่งขึ้น แต่ถ้าหากไม่รวมยอดคำสั่งซื้ออากาศยานและยุทโธปกรณ์ทางการทหารแล้ว ถือว่าไม่ดีต่อแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐเท่าใดนัก ซึ่งนักวิเคราะห์บางสำนักได้ประเมินตัวเลข GDP ลดลงจากเดิม ทำให้ค่าเฉลี่ยที่คาดการณ์ไว้ในคืนนี้ลดลงจากเดิมที่คาดว่าจะ +1.9% เหลือ +1.7% อย่างไรก็ตาม หากตัวเลขที่จะประกาศในคืนนี้ใกล้เคียงระดับ +2% ก็จะเป็นผลลบต่อราคาทองคำ แต่หากอยู่ในระดับ +1.5% ก็คาดว่าจะไม่ส่งผลกระทบมากนัก
20:55น. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ต.ค. โดย ม.มิชิแกน (ตัวเลขทบทวน) – เป็นการสรุปผลสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับเศรษฐกิจสหรัฐจากประชาชน 500 คน ที่เคยประมาณไว้ในการประกาศครั้งก่อนหน้า ซึ่งจากตัวเลขที่สูงกว่าระดับ 80 ทั้งก่อนหน้าและคาดการณ์ จึงแสดงถึงผลบวกต่อเศรษฐกิจสหรัฐ แต่จะส่งผลลบต่อราคาทองคำ อย่างไรก็ตาม หากตัวเลขที่จะประกาศในคืนนี้อยู่ในช่วง 80-85 ก็คาดว่าจะมีผลต่อราคาทองคำเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
การรายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐในสัปดาห์หน้า(29 ต.ค.-2 พ.ย.) : จันทร์ รายได้และรายจ่ายส่วนบุคคล เดือน ก.ย., ดัชนีการผลิตเขตมิดเวสต์ เดือน ก.ย. อังคาร ราคาบ้าน เดือน ส.ค., ความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐ เดือน ต.ค. พุธ ตัวเลขการจ้างงานทั่วประเทศ เดือน ต.ค., ต้นทุนการจ้างงาน ไตรมาส 3/2012, ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ(PMI) เขตชิคาโก เดือน ต.ค., ตัวเลขสต็อคน้ำมัน รายสัปดาห์ พฤหัสบดี จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงาน รายสัปดาห์, ตัวเลขประสิทธิภาพการผลิตและต้นทุนแรงงาน ไตรมาส 3/2012 (ประมาณการณ์ครั้งแรก), ค่าใช้จ่ายด้านการก่อสร้าง เดือน ก.ย., ดัชนีภาคการผลิต เดือน ต.ค. ศุกร์ ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร เดือน ต.ค., ดัชนีภาวะธุรกิจ (นิวยอร์ค) เดือน ต.ค., ยอดคำสั่งซื้อสินค้าคงทน เดือน ต.ค.
อบรมทุกวันอังคารและพฤหัส ที่ออฟฟิศอาคารจตุรัสจามจุรี ชั้น 11-12,16
สนใจติดต่อสอบถามได้ที่ บริษัท คลาสสิก โกลด์ ฟิวเจอร์ส จำกัด เบอร์โทร 02 618 0808,
http://www.classicgoldfutures.co.th
http://www.classicgold.co.th
http://www.chaibsengheng.co.th
http://www.facebook....lassicGoldGroup
http://www.youtube.com/ilovecgf
http://www.twitter.com/ilovecgf
http://www.classicgo...es.blogspot.com
http://itunes.apple....d464234361?mt=8
https://plus.google....509313835/posts
https://market.andro...les.classicgold
http://web.stagram.com/n/ilovecgf/
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น