ราคาทองคำเปิดตลาดเอเชียที่ 1,394 USDต่อออนซ์ เคลื่อนไหวระหว่าง 1,392 – 1,401 USDต่อออนซ์ ราคาทองคำสามารถฟื้นตัวกลับขึ้นมาได้ในวันนี้ สวนทางกับตลาดหุ้นทั่วโลกที่ต่างปรับตัวลดลง อีกทั้ง ตัวเลขเศรษฐกิจของยูโรโซนที่มีแนวโน้มหดตัวที่ช้าลง ยังหนุนให้ค่าเงินยูโร และราคาทองคำปรับขึ้นมาได้ ทั้งนี้ นักลงทุนรอติดตามตัวเลขการจ้างงานของสหรัฐที่จะประกาศในช่วงกลางสัปดาห์นี้ เพื่อรอดูทิศทางการกำหนดทิศทางของเฟดในระยะถัดไป ทั้งนี้ การที่ราคาทองคำยังไม่สามารถฟื้นตัวได้อย่างแข็งแกร่ง เนื่องจาก การคาดการณ์ถึงแนวโน้มการชะลอการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งหากยกเลิกการกระตุ้นเศรษฐกิจจริงดังคาด อาจกดดันต่อราคาทองคำ อีกทั้ง การปรับขึ้นภาษีการนำเข้าทองคำของประเทศอินเดีย ยังเป็นปัจจัยลบต่อแรงซื้อในตลาด Physical อย่างไรก็ตาม การชะลอการขายของกองทุน SPDR และมุมมองที่ดีขึ้นของนักลงทุนในตลาด COMEX ในตลาดทองคำ เมื่อราคาทองคำมีมูลค่าที่ถูกกว่าในเชิงเปรียบเทียบกับตลาดอื่นๆ จึงอาจมีการโยกเงินกลับเข้ามายังตลาดทองคำในอนาคต ขณะที่ ภาพทางเทคนิค เริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัว แต่ก็ยังไม่ชัดเจน ดังนั้น จับตาดูแนวรับ 1,385/1,375 หากยังไม่หลุดแนวรับดังกล่าว ราคาทองคำมี
โอกาสดีดกลับขึ้นไปทดสอย 1,400 และการทะลุระดับ 1,400 อาจหนุนให้ราคาทองคำปรับขึ้นได้อีก 10 – 15 เหรียญ
ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของอินเดียลดลงแตะระดับ 50.1 ในเดือนพ.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนมี.ค. 2552 ขณะที่สถิติเดือนเม.ย.อยู่ที่ 51 โดยดัชนีที่อยู่เหนือระดับ 50 บ่งชี้ถึงภาวะการขยายตัว ซึ่งก่อนหน้านี้ รัฐบาลอินเดียเปิดเผยว่า เศรษฐกิจของประเทศขยายตัวในระดับต่ำสุดในรอบ 10 ปี ที่ 5%
ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของยูโรโซนในเดือนพ.ค.เพิ่มขึ้นมาแตะ 48.3 เทียบกับ 47.58 ในเดือนเม.ย. โดยดัชนี PMI ภาคการผลิตของกลุ่มประเทศที่ใช้สกุลเงินยูโรซึ่งปรับตัวดีขึ้นในเดือนที่แล้ว ได้รับแรงหนุนจากการที่กิจกรรมการผลิตของประเทศสมาชิกรายใหญ่ๆ ต่างก็มีทิศทางที่เพิ่มสูงขึ้น แม้ว่ายังไม่หลุดพ้นจากภาวะหดตัว เนื่องจากดัชนีของประเทศสมาชิกดังกล่าวยังคงต่ำกว่าระดับ 50 ทั้งนี้ ผลสำรวจแสดงให้เห็นว่าดัชนี PMI ภาคการผลิตในเยอรมนี ฝรั่งเศส อิตาลีและสเปน ต่างก็ขยับสูงขึ้นในเดือนที่แล้ว ซึ่งส่งสัญญาณถึงการหดตัวที่ช้าลง
ภาคการผลิตของกรีซในเดือนพ.ค.หดตัวลงยาวนานเกือบ 4 ปีในเดือนพ.ค. แต่ภาวะหดตัวได้ชะลอลงมากที่สุดนับตั้งแต่เดือน เม.ย.2011 ขณะที่การร่วงลงของการผลิตและการจ้างงานได้ชะลอตัวลงมากขึ้น ซึ่งเพิ่มสัญญาณที่ว่า ภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำรุนแรงมานาน 6 ปีอาจจะกำลังเริ่มบรรเทาลง โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ของ Markit สำหรับภาคการผลิตของกรีซ ซึ่งมีสัดส่วนราว 15% ของเศรษฐกิจ ขยับขึ้นสู่ระดับ 45.3 ในเดือน พ.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 23 เดือน จากระดับ 45.0 ในเดือนเม.ย.
ตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่
- 21.00 ดัชนีภาคการผลิตเดือนพ.ค. สะท้อนถึงเศรษฐกิจโดยรวม ซึ่งตัวเลขที่อยู่สูงกว่าระดับ 50 บ่งชี้ว่าภาคการผลิตมีการขยายตัว และจะส่งผลบวกต่อค่าเงิน US Dollar แต่อาจกดดันต่อราคาทองคำ
- 21.00 ค่าใช้จ่ายด้านการก่อสร้างเดือนเม.ย. ตัวเลขประกอบการพิจารณาการฟื้นตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์สหรัฐ ซึ่งมักใช้ร่วมกับดัชนีราคาที่อยู่อาศัย, ยอดขายบ้านทั้งมือหนึ่งและมือสอง, ยอดคำขอจดจำนอง ฯลฯ อย่างไรก็ตาม ตัวเลขนี้ไม่ส่งผลต่อราคาทองคำ
Technical Analysis:
ทองคำ ราคายังไม่สามารถผ่านแนวต้าน 1,400 ดังนั้น จึงมีการย่อตัวลงมา โดยมีแนวรับที่บริเวณ 1,385/1,375 ซึ่งหากยังรับอยู่อย่างแข็งแกร่ง อาจพบการดีดกลับขึ้นทดสอบใกล้ 1,400 อีกครั้ง และการทะลุผ่านแนวต้าน 1,400 จะหนุนให้ราคาสามารถขึ้นได้อีก 10 – 15 เหรียญ โดยคืนนี้มีแนวต้านที่บริเวณ 1,400/1,415 และแนวรับบริเวณ 1,385/1,375
โลหะเงิน ให้แนวต้านบริเวณ 22.6 / 23.0 และแนวรับบริเวณ 22.0 / 21.8 แนะนำ Trading ในกรอบ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น